มะม่วงหิมพานต์-กาแฟ-มะขามเปรี้ยวยักษ์ พืชทางเลือกน่าสนใจ จ.น่าน

ข่าวที่ 90/2562 วันที่ 23 สิงหาคม 2562
 
มะม่วงหิมพานต์-กาแฟ-มะขามเปรี้ยวยักษ์ พืชทางเลือกน่าสนใจ จ.น่าน
 
              นางอัญชนา  ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดน่าน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวเหนียวนาปี และลำไย ซึ่งแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) พบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีพื้นที่เหมาะสมมาก (S1) และ เหมาะสมปานกลาง (S2) สำหรับการผลิต จำนวน 60,764 ไร่  และพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) จำนวน 460,069 ไร่ ข้าวเหนียวนาปี พื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง จำนวน 97,624 ไร่ พื้นที่เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม จำนวน 99,832 ไร่ และลำไย พื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง จำนวน 24,236 ไร่ ในขณะที่พื้นที่เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม จำนวน 22,406 ไร่
             สำหรับพื้นที่เหมาะสมมาก และเหมาะสมปานกลาง ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมส่งเสริมและพัฒนาโดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพสินค้าสู่มาตรฐาน ควบคู่กับการสร้างกลุ่มที่เข้มแข็งและพัฒนาระบบการบริหารจัดการกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ  ในขณะที่การผลิตในพื้นที่เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม หากเกษตรกรสนใจปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวเหนียวนาปี (อำเภอเวียงสา อำเภอเมือง และอำเภอท่าวังผา) เกษตรกรสามารถที่จะปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเป็นพืชทางเลือกได้จำนวน 9,691 ไร่  ส่วนการปรับเปลี่ยนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (อำเภอเวียงสา อำเภอเมือง และอำเภอนาน้อย) สามารถปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเป็นพืชทางเลือกได้ จำนวน 4,672 ไร่ และกรณีปรับเปลี่ยนลำไย (อำเภอท่าวังผา อำเภอเมือง และอำเภอเวียงสา) สามารถปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่เหมาะสมได้ จำนวน 1,959 ไร่  
            สำหรับพืชทางเลือกที่เหมาะในการปรับเปลี่ยน มีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ มีต้นทุนการผลิต 9,595 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในปีที่ 4 - 5 ประมาณ 17,703 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 8,107 บาท/ไร่ โดยผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ขายให้แก่ผู้รวบรวมในท้องถิ่น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 ขายให้โรงงานแปรรูป (หจก. แคชิวนัทริช กรุ๊ป ไทยแลนด์) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอท่าวังผา เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นเมล็ดกะเทาะเปลือก ทั้งนี้ ปี 2565 โรงงานแปรรูปดังกล่าวมีแผนรับซื้อผลผลิตประมาณ 5,000 ตัน ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 32 - 52 บาท
          กาแฟ ต้นทุนการผลิต 4,123 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในปีที่ 4 - 5 ประมาณ 6,370 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 2,246 บาท/ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ขายในรูปผลสด (เชอร์รี่) ให้กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปสันเจริญและกลุ่มอื่นๆ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอท่าวังผา โดยกลุ่มจะทำการแปรรูปเบื้องต้นเป็นเมล็ดกะลาและสารกาแฟ แล้วขายส่งให้แก่พ่อค้าในจังหวัดน่าน แพร่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และกรุงเทพฯ ราคารับซื้อเมล็ดผลสด (เชอร์รี่) อยู่ที่กิโลกรัมละ  11 - 13 บาท มีปริมาณความต้องการวัตถุดิบเพื่อผลิตกาแฟกะลา 70,000 กิโลกรัม/ปี และสารกาแฟ 52,000 กิโลกรัม/ปี   ส่วนผลผลิตที่เหลืออีกร้อยละ 15 จะขายให้ผู้รับซื้อรายย่อย และร้อยละ 5 ขายให้ผู้รับซื้อรายใหญ่ในท้องถิ่น  
               มะขามเปรี้ยวยักษ์  มีต้นทุนการผลิต 7,627 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในปีที่ 3 – 5 ประมาณ 38,150 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 30,523 บาท/ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 85 จะขายในลักษณะมะขามฝักแห้งให้แก่ผู้รับซื้อในท้องถิ่นเพื่อรวบรวมส่งขายให้แก่พ่อค้าจากจังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ราคารับซื้อมะขามฝักแห้งอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 - 30 บาท มะขามฝักสดกิโลกรัมละ 15 บาท สำหรับผลผลิตที่เหลืออีกร้อยละ 15 จะขายให้แก่พ่อค้าในท้องถิ่นและต่างจังหวัด
อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีพื้นที่ทำการเกษตรน้อย และปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน ไม่สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตได้ จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำ และปรับปรุงคุณภาพดินให้เหมาะสม สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลด้านพืชทางเลือกที่เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และ ตาก สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก โทร. 0 5532 2650 และ 0 5532 2658 หรือ อีเมล์ zone2@oae.go.th
*******************************
ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก